Tuesday, October 28, 2008

Trop Med Mahidol University

ปณิธาน
คณะเวชศาสตร์เขตร้อนเป็นสถาบันวิชาชีพชั้นสูงในมหาวิทยาลัย ให้การศึกษาวิชาเวชศาสตร์เขตร้อน แก่บุคลากรทางการแพทย์ เพื่อสนองความต้องการของสังคมด้านสาธารณสุขของประเทศไทย และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มุ่งเสาะแสวงหาความรู้ใหม่ๆ ในด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานและ วิทยาศาสตร์การแพทย์ประยุกต์ รวบรวม เผยแพร่ และถ่ายทอดความรู้เพื่อความก้าวหน้าทางวิชาการในสาขานี้ ในด้านการบริการชุมชน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ทำการตรวจวินิจฉัยรักษาป้องกันโรคเขตร้อนและส่งเสริมสุขภาพอนามัย คณะเวชศาสตร์เขตร้อนมีจุดมุ่งหมายที่จะปลูกฝัง ให้บุคลากรทางการแพทย์มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ในวิชาเวชศาสตร์เขตร้อนสามารถ นำความรู้ไปใช้ในการแก้ปัญหาสาธารณสุขของชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมชนบท มีความรู้รอบ ความคิดริเริ่ม ใฝ่รู้อยู่เสมอ รอบคอบ รู้จักตนและหน้าที่รับผิดชอบ มีศีลธรรมและเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
วิสัยทัศน์
Asia's Leader in Tropical Medicine " คณะเวชศาสตร์เขตร้อน เป็นสถาบันชั้นนำทางเวชศาสตร์เขตร้อนในภูมิภาคเอเชีย "
พันธกิจ
1. มุ่งสู่การวิจัยที่เป็นเลิศเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ทางด้านโรคเขตร้อนและการประยุกต์ใช้
2. ผลิตและพัฒนาบุคลากรระดับบัณฑิตศึกษาด้านทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ และ สาธารณสุขที่มีคุณภาพ คุณธรรมและ จรรยาบรรณทางวิชาชีพในระดับสากล
3. ให้บริการวิชาการเพื่อแก้ไขปัญหาสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ในประเทศไทยและประเทศอื่นที่มีปัญหาโรคเขตร้อน
4. ทำนุบำรุงส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม คุณภาพชีวิต และการดำรงชีวิตในแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
5. บริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ รวมทั้งใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อการพัฒนางานวิชาการ การบริการ สังคมและระบบบริหารจัดการ

การบริการด้านโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน
มหาวิทยาลัยมหิดล
ไข้เลือดออก Dengue hemorrhagic fever
สาเหตุของโรค
เกิดจากไวรัสเดงกีซึ่งมีอยู่ 4 สายพันธุ์ การติดเชื้อครั้งแรกมักมีอาการไม่รุนแรงแต่ถ้าติดเชื้อครั้งที่ 2 โดยเชื้อต่างสายพันธุ์กับครั้งแรก อาการมักจะรุนแรงถึงขั้นเลือดออกหรือช็อกหรือเสียชีวิต โรคนี้พบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่
การติดต่อ
โรคนี้ติดต่อจากคนสู่คน โดยมียุงลายบ้าน (Aedes aegypti) เป็นพาหะที่สำคัญ ยุงตัวเมียจะกัดและดูดเลือดของผู้ป่วยซึ่งมีเชื้อไวรัสเดงกี เชื้อจะเข้าไปฟักตัวเพิ่มจำนวนในยุงหลังจากนั้นยุงจะมีเชื้อไวรัสอยู่ในตัวตลอดชีวิตของยุง (ประมาณ 1-2 เดือน) และสามารถถ่ายทอดเชื้อให้คนที่ถูกกัดได้ ยุงลายเป็นมีที่อาศัยอยู่ภายในบ้านและบริเวณบ้านมักจะกัดเวลากลางวัน แหล่งเพาะพันธุ์ คือ น้ำใสที่ขังอยู่ตามภาชนะเก็บน้ำต่าง ๆ เช่น โอ่งน้ำ แจกันดอกไม้ ถ้วยรองขาตู้ จาน ชาม กระป๋อง หม้อ กระถาง ยางรถ เป็นต้น
โดยทั่วไปโรคนี้จะพบมากในฤดูฝน เนื่องจากยุงลายมีการแพร่พันธุ์มาก แต่อาจพบโรคนี้ได้ประปลายตลอดปี ปัจจุบันพบว่ายุงลายสวน (Aedes albopictus) ซึ่งอาศัยอยู่และเพาะพันธุ์ตามสวนนอกบ้านเป็นพาหะนำโรคนี้บ่อยกว่าในอดีต
อาการ
ในการติดเชื้อไวรัสเดงกีครั้งแรก ผู้ป่วยส่วนใหญ่(80-90%) มักไม่แสดงอาการ แต่บางคนมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก มีผื่นที่ผิวหนังได้ แต่ถ้าติดเชื้อครั้งที่สองโดยเชื้อต่างสายพันธุ์กับครั้งแรก อาจเป็นไข้เลือดออกซึ่งมีอาการสำคัญแบ่งออกได้ 3 ระยะ คือ
ระยะไข้ ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกือบตลอดเวลา เด็กบางคนอาจชักเนื่องจากไข้สูง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง มักมีหน้าแดง และอาจมีผื่นหรือจุดเลือดออกตามลำตัว แขน ขา ระยะนี้จะเป็นอยู่ราว 2-7 วัน
ระยะช็อก ระยะนี้ไข้จะเริ่มลดลง ผู้ป่วยจะซึม เหงื่ออก มือเท้าเย็น ชีพจรเบาแต่เร็ว ปวดท้อง โดยเฉพาะบริเวณใต้ชายโครงขวา ปัสสาวะออกน้อย อาจมีเลือดออกง่า เช่น มีเลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระมีสีดำ ในรายที่รุนแรงจะมีความดันโลหิตต่ำ ช็อกและอาจถึงความตายได้ ระยะนี้กินเวลา 24-48 ชั่วโมง
ระยะฟื้น อาการต่าง ๆ จะเริ่มดีขึ้น ผู้ป่วยรู้สึกอยากรับประทานอาหาร ความดันโลหิตสูงขึ้น ชีพจรเต้นแรงขึ้นและช้าลง ปัสสาวะออกมากขึ้น บางรายมีผื่นแดงและมีจุดเลือดออกเล็ก ๆ ตามลำตัว
การวินิจฉัย
เกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกในการวินิจฉัยโรคไข้เลือดออก คือ มีไข้สูง มีเลือดออกง่าย(ทดสอบโดยการรัดแขนและพบจุดเลือดออกที่ผิวหนัง หรือมีจ้ำเลือดตามตัว หรือมีเลือดออกตามร่างกาย เช่น เลือดกำเดา เลือดออกตามไรฟัน) เจ็บชายโครงขวาเนื่องจากตับโต ช็อก เกล็ดเลือดต่ำ เลือดเข้มขึ้น หรือมีน้ำในช่องเยื้อหุ้มปอด สามารถยืนยันการวินิจฉัยโดยการตรวจน้ำเหลืองหรือเพาะเชื้อไวรัสจากเลือด
การรักษา
เนื่องจากยังไม่มียาต้านเชื้อไวรัสที่มีฟทธิ์เฉพาะสำหรับเชื้อไวรัสเดงกี การรักษาตามอาการจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดโดยให้ยาพาราเซทตามอลในช่วงที่มีไข้สูง ห้ามใช้ยาแอสไพรินเพราะจะทำให้เลือดออกรุนแรงขึ้น ถ้ามีอาการคลื่นไส้อาเจียนให้ยาแก้คลื่นไส้และดื่มน้ำเกลือแร่หรือน้ำผลไม้ครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง และคอยสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้ป้องกันภาวะช็อกได้ ระยะที่เกิดช็อกส่วนใหญ่จะเกิดพร้อม ๆ กับช่วงที่ไข้ลดลงผู้ปกครองควรทราบอาการก่อนที่จะช็อก คือ อาจมีอาการปวดท้อง ปัสสาวะน้อยลง มีอาการกระสับกระส่ายหรือซึมลง มือเท้าเย็นพร้อม ๆ กับไข้ลดลง หน้ามืด เป็นลมง่าย หากเป็นดังนี้ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
การป้องกัน
ป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยนอนกางมุ้งแม้ในเวลากลางวันหรือทายาป้องกันยุง กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในบ้าน รวมทั้งบริเวณรอบ ๆ บ้าน ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำในภาชนะที่ขังน้ำทุก 7 วัน เช่น แจกัน กำจัดภาชนะแตกหักขังน้ำ เช่น ยางรถเก่า กระถาง เลี้ยงปลากินลูกน้ำในอ่างบัวหรือแหล่งน้ำอื่น ๆ ปิดฝาโอ่งหรือภาชนะอื่น ๆ ให้มิดชิด หรือใส่ทรายเคมีกำจัดลูกน้ำ (Temephos) ในภาชนะที่เก็บน้ำไว้ใช้ ใส่เกลือหรือน้ำส้มสายชูลงในจานรองขาตู้กับข้าว
www.tm.mahidol.ac.th

พยาธิตัวจี๊ด โรคพยาธิตัวจี๊ด
สาเหตุของโรค

โรคพยาธิตัวจี๊ดมีสาเหตุมาจากพยาธิตัวกลมที่มีชื่อเรียกว่า พยาธิตัวจี๊ด และมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า แนธโธสโตมา สไปนิจิรุม (Gnathostoma spinigerum)
พยาธิมีรูปร่างลักษณะอย่างไร
ตัวแก่ของพยาธิทั้งตัวผู้ตัวเมียยาวประมาณ 1.5-3.0 ซม. มีลักษณะลำตัวกลมยาว หัวคล้ายลูกฟักทอง ทั้งหัวและตัวของพยาธิพวกนี้จะมีหนาม ตัวอ่อนของพยาธิในระยะติดต่อลักษณะคล้ายพยาธิตัวเต็มวัยแต่มีหนามน้อยกว่าและมีขนาดเล็กกว่า มักจะขุดพบตัวอยู่ในถุงหุ้มซึ่งฝังตัวอยู่ในเนื้อของสัตว์พาหะ ส่วนพยาธิที่พบในคนจะเคลื่อนที่ไปเรื่อย ๆ และมีความยาวประมาณ 0.4-0.9 ซม.
แหล่งระบาดของพยาธิและโรค
ในประเทศไทยมีสัตว์ประมาณ 44 ชนิดที่ตรวจพบว่ามีตัวอ่อนระยะติดต่อของพยาธิตัวจี๊ดอยู่ ได้แก่ ปลาน้ำจืด เช่น ปลาช่อน ปลาไหล ปลาดุก สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เช่น กบ สัตว์เลื้อยคลานเช่น ตะกวด สัตว์จำพวกนก รวมทั้งเป็ดและไก่ สัตว์จำพวกหนู กระแต ส่วนสัตว์ที่เป็นรังโรคพยาธิตัวจี๊ดมีหลายชนิด รวมทั้งสุนัขและแมว
การสำรวจปลาไหลในเขตจังหวัดภาคกลาง พบว่ามีการกระจายของพยาธิตัวจี๊ดอยู่หลายจังหวัด เช่น อ่างทอง อยุธยา ราชบุรี นครนายก ปราจีนบุรี ลพบุรี สระบุรี เป็นต้น อาหารที่ปรุงแบบสุก ๆ ดิบ ๆ หรือ อาหารหมักที่ทำมาจากปลาน้ำจืด เช่น ส้มฟัก ปลาร้า ปลาเจ่า หรือ เนื้อสัตว์อื่น ๆ อาจพบว่ามีตัวอ่อนระยะติดต่อของพยาธิตัวจี๊ดอยู่เช่นกัน
วงจรชีวิต
ตัวแก่ของพยาธิทั้งตัวผู้ตัวเมียจะอาศัยอยู่ในกระเพาะอาหารของสุนัขและแมว หลังจากพยาธิผสมพันธุ์แล้ว ตัวเมียจะปล่อยไข่ออกมากับอุจจาระของสัตว์เหล่านี้ เมื่อไข่ลงน้ำจะฟักตัวออกมาเป็นตัวอ่อนระยะที่ 1 ตัวกุ้งไร (Cyclops) จะกินตัวอ่อนระยะนี้และไปเจริญเป็นตัวอ่อนระยะที่ 2 เมื่อปลากินไรกุ้งที่มีพยาธิ พยาธิจะเจริญในปลาเป็นตัวอ่อนระยะที่ 3 ซึ่งเป็นระยะติดต่อ ถ้าสุนัขและแมวกินปลานี้เข้าไป พยาธิก็จะไปเจริญเป็นตัวแก่ในกระเพาะอาหาร แต่ถ้าคนกินปลาซึ่งมีพยาธิระยะติดต่อเข้าไป พยาธิก็จะคืบคลานหรือไชไปตามอวัยวะต่าง ๆ ยังไม่มีรายงานว่าพยาธินี้เจริญเป็นตัวแก่จนสามารถออกไข่ได้ในคน
การติดต่อ
โรคที่เกิดจากพยาธิตัวจี๊ดนี้ สามารถติดต่อได้ในคนทุกเพศทุกวัย โดยการกินตัวอ่อนระยะติดต่อที่ปะปนอยู่ในเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุกโดยเฉพาะปลาน้ำจืด หรืออาจติดต่อจากมารดาสู่ทารกในครรภ์โดยไชผ่านทางรกนอกจากนี้พยาธิยังสามารถไชเข้าทางผิวหนังบริเวณที่เป็นแผล โดยเฉพาะในบางคนที่ใช้เนื้อสัตว์สด ๆ เช่น กบ ปลา พอกแผล เพื่อทำให้หายเร็วขึ้น
อาการ
อาการที่พบบ่อยที่สุกคือ อาการที่เกิดจากพยาธิไชอยู่ใต้ผิวหนัง ตามลำตัว แขน ขา และบริเวณใบหน้า ทำให้ บวม แดงบริเวณนั้น หรือเห็นเป็นรอยทางแดง ๆ ตามแนวที่พยาธิไชผ่านไป อาการบวมแดงนี้ จะเป็นอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ แล้วหายไปเองแม้ไม่ได้รับการรักษา หลังจากนั้นอาจบวมขึ้นมาใหม่ในบริเวณอื่น ๆ ใกล้กัน แถบเดียวกัน บางครั้งทำให้เกิดเป็นก่อนคล้ายเนื้องอกตามอวัยวะต่าง ๆ นอกจากที่ผิวหนังแล้ว พยาธิอาจไชไปอวัยวะสำคัญอื่น ๆ เช่น ตา ปอด กระเพาะปัสสาวะ โดยเฉพาะถ้าไปที่สมองจะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน คอแข็ง ปวดตามเส้นประสาทได้
การวินิจฉัย
การจะบอกว่าเป็นโรคพยาธิตัวจี๊ดแน่นอน ต้องตรวจพบตัวพยาธิ ซึ่งอาจจะไชออกมาทางผิวหนังเอง แต่โดยทั่วไปมักไม่พบพยาธิแม้ผ่าเข้าไปในบริเวณที่บวม ดังนั้นการที่จะบอกว่าเป็นโรคนี้ จึงมักดูจากอาการของโรคว่ามีอาการเจ็บ ปวด บวมเคลื่อนที่หรือไม่ และเจาะเลือดหรือน้ำไขสันหลังเพื่อตรวจด้วยวิธีทางอิมมิวโนวินิจฉัย
การรักษา
โดยทั่วไปจะรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาลดบวม ยาแก้แพ้แก้คัน เป็นต้น ยารักษาโรคพยาธิชนิดที่ให้ผลเป็นที่น่าพอใจ คือ อัลเบนดาโซ ขนาด 400-800 มิลลิกรัม วันละครั้งหรือ 2 ครั้งเป็นเวลา 21 วันติดต่อกัน การใช้ยาควรอยู่ในความดูแลของแพทย์
การป้องกัน
ไม่รับประทานเนื้อสัตว์สุก ๆ ดิบ ๆ เช่น อาหารประเภทยำ ลาบ หมก พล่า รวมทั้งปลาร้า ปลาเจ่าส้มฟัก ไม่ใช้เนื้อสด โดยเฉพาะเนื้อกบ ปลา พอกบริเวณบาดแผล ให้ความรู้เรื่องสาเหตุและการป้องกันโรคพยาธิแก่ประชาชน
ขอรับคำปรึกษาและตรวจรักษาได้ที่ โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล

โรคมาลาเรีย มาลาเรีย ไข้จับสั่น หรือไข้ป่า
เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อโปรโตซัวพลาสโมเดียม เชื้อที่ทำให้เกิดโรคในคนมี 4 ชนิด คือ ฟัลซิปารัม ไวแวกซ์ มาลาเรียอี และ โอวาเล เชื้อมาลาเรียที่พบบ่อยในประเทศไทย คือ ชนิดฟัลซิปารัม และไวแวกซ์
ฟัลซิปารัม จะก่อให้เกิดอาการรุนแรงอาจถึงแก่ชีวิตได้ ส่วนชนิดไวแวกซ์และโอวาเล สามารถซ่อนอยู่ในตับได้นานและออกสู่กระแสเลือดได้ในภายหลังทำให้กลับเป็นโรคซ้ำได้อีก
แหล่งระบาด
แหล่งระบาดของมาลาเรียอยู่ตามจังหวัดชายแดน โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นภูเขาสูง ป่าทึบ และมีแหล่งน้ำ ลำธาร อันเป็นแหล่งแพร่พันธุ์ของยุงก้นปล่อง
จังหวัดที่พบผู้ป่วยมาลาเรียส่วนใหญ่ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ตาก ตราด ระนอง กาญจนบุรี จันทบุรี สระแก้ว ประจวบคิรีขันธ์ ราชบุรีและชุมพร(แหล่งที่มากรมควบคุมโรค)
การติดต่อ
การติดต่อสู่คนโดยการถูกยุงก้นปล่องตัวเมียที่มีเชื้อมาลาเรียกัด
วงจรชีวิต
1.เชื้อมาลาเรียที่กระเพาะอาหาร
2.เชื้อมาลาเรียระยะติดต่อในต่อมน้ำลายของยุง
3.ระยะที่เชื้ออยู่ในตับคน
4.เชื้อมาลาเรียถูกปล่อยจากตับเข้าสู่กระแสเลือด
5.เชื้อมาลาเรียชนิดมีเพศ
อาการ
หลังจากได้รับเชื้อมาลาเรียประมาณ 1-2 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะมีอาการนำคล้ายกับเป็นหวัด คือ มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหารได้ ลักษณะเฉพาะของโรคที่เรียกว่า ไข้จับสั่น คือ มีอาการหนาวสั่น ไข้สูงและตามตัวมีเหงื่อออก จะพบได้ในผู้ป่วยบางรายเท่านั้น
การวินิจฉัย
โดยการตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อมาลาเรีย
การรักษา
มาลาเรียเป็นโรคที่รักษาให้หายขาดได้ ถ้าได้รับกากรวินิจฉัยที่ถูกต้อง รวดเร็วและได้รับการรักษาด้วยยาที่มีประสิทธิภาพ ตรงตามชนิดของเชื้อที่เป็นสาเหตุ
การซื้อยารักษาด้วยตนเอง หรือกินยาไม่ครบอาจทำให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยา หรือทำให้เป็นโรครุนแรงขึ้นและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
การป้องกัน
เมื่อจะต้องเข้าไปในพื้นที่ที่มีแหล่งระบาดของมาลาเรียควรป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด ดังนี้
1.สวมเสื้อผ้าปกปิดร่างกายให้มิดชิด ควรใช้เสื้อผ้าสีอ่อน ๆ
2.ทายากันยุง
3.นอนในมุ้ง (ถ้าใช้มุ้งชุมน้ำยา จะเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกัน)
4.ถ้านอนในห้องที่มีมุ้งลวด ควรพ่นยากันยุงก่อน
**ในประเทศไทยไม่แนะนำให้กินยาป้องกัน เนื่องจากมีปัญหาดื้อยาและอาจมีผลข้างเคียง ถ้ามีอาการไข้และสงสัยว่าเป็นโรคมาลาเรีย ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ มีไข้ เข้าไปในแหล่ง หวดระแวงไข้ป่า โปรดปรึกษา เวชศาสตร์เขตร้อน

สครับไทฟัส Scrub Typhus
สครับไทฟัส (Scrub Typhus) หรือไข้ไรอ่อน เป็นโรคหนึ่งในกลุ่มของโรคไข้รากสากใหญ่ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดแกรมลบ ในกลุ่มของริคเคทเซีย (Rickettsiae) ที่มีชื่อว่า โอเรียนเซีย ซึซึกามูชิ (Orientia tsutsugamushi) เชื้อชนิดนี้เจริญเติบโตได้ต้องอาศัยอยู่ภายในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตเท่านั้น หนูหรือสัตว์ฟันแทะเป็นรังโรคที่สำคัญ เนื่องจากสัตว์เหล่านี้อาจมีเชื้ออยู่ในเลือดโดยไม่มีอาการ จึงแพร่โรคไปที่ต่าง ๆ ได้ง่าย เชื้อในตัวไรนี้สามารถถ่ายทอดจากไรตัวเมียที่ติดเชื้อไปสู่ไรอ่อนรุ่นต่อไป
การติดต่อ
โรคนี้ติดต่อจากสัตว์มาสู่คนโดยการถูกตัวไรอ่อน(Chigger)ที่มีเชื้อนี้กัด
วงจรการติดโรค
โดยปกติตัวไรอ่อนจะกัดและดูดเลือดจากหนูหรือสัตว์ฟันแทะเป็นอาหาร ถ้าสัตว์นั้นมีเชื้ออยู่เชื้อจะเข้าไปสู่กระแสเลือดแล้วไปเจริญเติบโตที่ต่อมน้ำลายของไรอ่อนและแพร่สู่หนูตัวใหม่ไปเรื่อย ๆ ซึ่งทำให้บริเวณนั้นเป็นรังโรคที่มีเชื้อซ่อนเร้นอยู่เป็นเวลานาน คนที่ถูกไรอ่อนที่มีเชื้อกัดจึงเป็นโรคสครับไทฟัสได้
แหล่งระบาด
ในประเทศไทยมีรายงานตรวจพบผู้ป่วยจากทุกภาคบริเวณที่ไรอ่อนชอบอาศัยอยู่ ได้แก่ ทุ่งหญ้า ป่าละเมาะ สวนและไร่นาต่าง ๆ หรือบริเวณริมแม่น้ำ ดังนั้นกลุ่มคนที่เสี่ยงต่อการเป็นโรค ได้แก่ ทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน เกษตรกร นักท่องเที่ยว หรือ คณะนักสำรวจป่า โรคนี้มักจะพบบ่อยในฤดูฝนมากกว่าฤดูอื่น ๆ
อาการ
ระยะฟักตัวของโรคอยู่ระหว่าง 7-21 วันหลังจากได้รับเชื้อ อาการที่สำคัญ คือ มีไข้สูง อ่อนเพลีย ปวดศีรษะมาก ไอ ตาแดง และต่อมน้ำเหลืองโต หลังจากเป็นไข้ 5-7 วัน อาจพบผื่นแดงปรากฏอยู่ 2-3 วัน แล้วจะจางหายไป ถ้าตรวจร่างกายให้ละเอียด อาจพบจุดแผลที่ถูกไรอ่อนกัดซึ่งมีลักษณะคล้ายแผลจากการถูกบุหรี่จี้ขนาดประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร เรียกว่าเอสคาร์ (eschar) ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องผู้ป่วยจะมีไข้สูงนาน 2-3 สัปดาห์ หลังจากนั้นบางรายอาจหายป่วยได้เอง แต่จะมีผู้ป่วยบางส่วนมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น เช่น สมองและเยื่อหุ้มสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ปอดบวม เป็นต้น ซึ่งอาจถึงตายได้
การวินิจฉัย
อาศัยประวัติและอาการของผู้ป่วย ตรวจพบแผลที่ถูกไรอ่อนกัดหรือรอยผื่นแดงตามลำตัว การวินิจฉัยที่แน่นอนทำได้โดยเจาะเลือด เพื่อตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันชนิดแอนติบอดีต่อโรคนี้ในห้องปฎิบัติการ เลือดคนปกติที่ไม่มีแอนติบอดี เลือดของผู้ป่วยที่มีแอนติบอดี
การรักษา
โรคนี้รักษาหายได้ โดยใช้ยาปฏิชีวนะที่ถูกต้องตามคำแนะนำของแพทย์
การป้องกัน
1.ควรใส่เสื้อผ้าให้มิดชิดและทายากันแมลง ขณะเดินทางเข้าไปในแหล่งที่มีไรอ่อนอาศัยอยู่
2.ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์รังโรค โดยเฉพาะหนู
3.ให้ความรู้เรื่องสาเหตุและการป้องกันโรคนี้แก่ประชาชน
ชุดตรวจหาแอนติบอดีต่อเชื้อสครับไทฟัส
ผลิตโดยคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่
โทร. 02-246-9000-12 ต่อ 1595
ตระเวนทุ่งหญ้าป่าละเมาะคราใด ระวังเป็นไข้จากไรอ่อนกัด
มีแผลคล้ายบุหรี่จี้ชี้ชัด เป็นโรคสครับไทฟัสแน่นอน
หากสงสัยควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง
เพราะอาจเกินภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้


โรคพยาธิหอยโข่ง Angiostrongylosis
โรคพยาธิหอยโข่ง เป็นโรคที่เกิดจากพยาธิตัวกลมที่มีชื่อว่า แองจีโอสตรองจิลัส แคนโตเนนซิส
(Angiostrongylus cantonensis) ซึ่งตามปกติเป็นพยาธิที่อาศัยอยู่ในหลอดเลือดแดงของปอดหนู
รูปร่างลักษณะ
พยาธิตัวเต็มวัยมีรูปร่างเรียว ยาวประมาณ 2-3 ซม ตัวเมียจะมีลายเป็นเกลียวขาวสลับดำอยู่ในตัว ตัวผู้จะมีขนาดเล็กกว่าและที่หางจะมีแผ่นบาง ๆ เล็ก ๆ แผ่ออกมา
แหล่งระบาดของโรคพยาธิ
โรคพยาธิหอยโข่งพบได้ทุกภาคในประเทศไทย โดยเฉพาะภาคตะวันออกฉียงเหนือ ในกลุ่มประชาชนที่ชอบรับประทานหอยน้ำจืดดิบ ๆ สุก ๆ
วงจรชีวิต
พยาธิตัวเต็มวัยทั้งสองเพศจะอาศัยอยู่ในหลอดเลือดแดงของปอดหนู พยาธิตัวเมียจะออกไข่ในหลอดเลือดระยะที่ 1 ปนออกมากับมูลหนู ตัวอ่อนระยะนี้ไชเข้าหอยทากหรือหอยน้ำจืด เช่น หอยโข่ง(หอยปัง) หอยขม หอยเชอรี่ แล้วเจริญจนเป็นตัวอ่อนระยะติดต่อ เมื่อหนูกินหอย พยาธิจากหอยจะเข้าไปในสมองหนู เจริญต่อไปเป็นพยาธิตัวแก่ในหลอดเลือดแดงของปอดหนูและออกไข่ซึ่งจะพัฒนาต่อไปตามวงจรชีวิต หากคนรับประทานหอยดิบ ๆ สุก ๆ ซึ่งมีพยาธิระยะติดต่อ พยาธิจะเข้าสู่ระบบประสาท เช่น สมอง ไขสันหลัง หรือตา
พยาธิติดต่ออย่างไร
ติดต่อโดยการรับประทานอาหารดิบ ๆ สุก ๆ ที่ทำมาจากสัตว์พาหะที่มีพยาธิระยะติดต่อ เช่น หอยน้ำจืด หอยบก หอยทาก กุ้งหรือปูน้ำจืด หรือตะกวด นอกจากนี้พยาธิอาจปนเปื้อนมากับน้ำดื่ม ผักและผลไม้สด
อาการ
หลังจากรับประทานอาหารที่มีพยาธิระยะติดต่อเข้าไป 1-4 สัปดาห์ จะมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ในรายที่มีอาการุนแรงจะปวดศีรษะมาก คอแข็ง หลังแข็ง ชัก อาจเป็นอัมพาต ซึม หมดสติ หรือตายได้ ถ้าพยาธิไชเข้าตา ตาอาจจะอักเสบ มัว และบอดได้
การวินิจฉัย
1.วินิจฉัยจากอาการทางคลินิกเบื้องต้น
2.จากประวัติการรับประทานอาหารดิบ ๆ สุก ๆ เช่น หอยพาหะ กุ้ง และสัตว์พาหะอื่น ๆ
3.ตรวจพบพยาธิในน้ำไขสันหลังหรือจากตา
4.ตรวจพบเม็ดเลือดขาวชนิดอิโอซิโนฟิลจำนวนมากในน้ำไขสันหลัง
5.ตรวจเลือดเพื่อหาภูมิคุ้มกันเฉพาะต่อพยาธิโดยวิธีอิมมิวโนวินิจฉัย
การป้องกัน
1.ไม่รับประมานอาหารดิบ ๆ สุก ๆ พืชผักผลไม้หรือน้ำที่ไม่สะอาด
2.ควบคุมหนูและหอยพาหะ
3.ให้สุขศึกษาถึงการระบาด การติดเชื้อและการป้องกัน
การรักษา
พบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง


ไข้สมองอักเสบ เจอี (Japanese encephalitis)
เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเจอีที่สมอง โดยมีพาหสำคัญคือ ยุงรำคาญ ชนิด Culex tritaeniorrhnchus ซึ่งมักแพร่พันธุ์ในนาข้าว โรคนี้เป็นโรคสมองอักเสบชนิดที่พบบ่อยที่สุดในประเทศไทย
การติดต่อ
โรคนี้มีหมูเป็นรังโรค เชื้อไวรัสจะเพิ่มจำนวนในหมูอย่างรวดเร็วโดยหมูไม่มีอาการป่วย เมื่อยุงรำคาญชนิดที่เป็นพาหะมากัดและดูดเลือดหมู ไวรัสจะเข้าไปฟักตัวเพิ่มจำนวนในตัวยุง ซึ่งจะสามารถแพร่โรคไปให้คนหรือสัตว์ที่ถูกกัดได้ เช่น ม้า วัว ควาย แพะ แกะ และนก เป็นต้น
วงจรชีวิต
แหล่งระบาด
โรคนี้มีรายงานครั้งแรกจากประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันพบโรคในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ ในประเทศไทยพบโรคนี้ได้ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในบริเวณที่มีการทำนาร่วมกับการเลี้ยงหมู พบผู้ป่วยมากในจังหวัดแม่ฮ่องสอน มุกดาหาร กำแพงเพชร สมุทรสาคร และน่าน
อาการ
ผู้ที่ได้รับเชื้ออาจมีหรือไม่มีอาการป่วยก็ได้ ประมาณว่าผู้ติดเชื้อ 300 คน อาจป่วยเป็นโรคนี้ได้ 1 คน ผู้ป่วยมักแสดงอาการหลังได้รับเชื้อ 5-15 วัน ในระยะแรกจะมีไข้สูง อาเจียน ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ซึ่งจะกินเวลา 1-7 วัน (ส่วนใหญ่ 2-3 วัน) หลังจากนั้น จะมีอาการทางสมอง เช่น คอแข็ง สติสัมปชัญญะเลวลง ซึม เพ้อคลั่ง ชัก หมดสติ หรือ อาการรุนแรงอาจถึงตายได้ในระยะนี้ (อัตราตายร้อยละ 15-30 ของผู้ป่วย) หลังจากนั้นไข้จะค่อย ๆ ลดลงสู่ปกติ และอาการทางสมองจะค่อย ๆ ดีขึ้น แต่ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่รอดชีวิตจะยังมีความผิดปกติทางสมองอยู่ เช่น เกร็ง อัมพาต ชัก ปัญญาอ่อน หงุดหงิดง่าย พูดไม่ชัด เป็นต้น
การวินิจฉัย
การวินิจฉัยจากประวัติการอยู่อาศัย หรือการเข้าไปในแหล่งระบาดของโรค อาการและการตรวจร่างกายของผู้ป่วย การวินิจฉัยที่แน่นอนทำได้โดยการเจาะเลือดและน้ำไขสันหลัง เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสและภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสเจอี
การรักษา
เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคนี้โดยเฉพาะ ดังนั้นจึงมุ่งรักษาตามอาการและป้องกันโรคแทรกซ้อนในระยะที่มีอาการทางสมอง
การป้องกัน
หลังจากที่ประเทศญี่ปุ่น จีน และเกาหลี ได้ใช้วัคซีนป้องกันโรคนี้ พบว่าผู้ป่วยในประเทศดังกล่าวลดลงอย่างมาก วัคซีนป้องกันโรคที่มีใช้ในประเทศไทยในปัจจุบัน เป็นวัคซีนที่ผลิตจากไวรัสที่ทำให้ตายแล้ว ใช้ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง รวม 3 ครั้ง โดย 2 ครั้งแรกฉีดห่างกัน 1 สัปดาห์ และครั้งที่ 3 ห่างจากครั้งที่ 2 นาน 1 ปี ปัจจุบันองค์การเภสัชสามารถผลิตวัคซีนได้ และกระทรวงสาธารณสุขมีโครงการที่จะฉีดให้เด็กตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปทุกคน
สำหรับการป้องกันอื่น ๆ เช่น กำจัดยุง ป้องกันไม่ให้ยุงกัด และควบคุมการเลี้ยงหมูเป็นไปได้ยากเนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศกสิกรรม มีการทำนาและเลี้ยงหมูอยู่ทั่วไป
ผู้ที่จะเข้าไปในแหล่งระบาดของโรค และไม่เคยได้รับวัคซีน ควรได้รับวัคซีนอย่างน้อย 2 ครั้ง โดยครั้งหลังควรได้รับก่อนเข้าไปในแหล่งระบาด 2 สัปดาห์
ขอรับคำปรึกษาและตรวจรักษาได้ที่ โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล


โรคฉี่หนู Laptospirosis
ไข้ฉี่หนู เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากแบคทีเรียที่มีรูปร่างเป็นเกลียว มีชื่อว่า เลปโตสไปรา (Laptospira) จึงเรียกชื่อโรคนี้ว่าเลปโตสไปโรซิส (Laptospirosis) เชื้อนี้ทำให้เกิดโรคในคนและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุนัข แมว สุกร โค กระบือ แพะ ม้า แกะ ฯลฯ และที่สำคัญคือ หนู แต่สัตว์ต่าง ๆ อาจไม่แสดงอาการป่วย
การติดต่อ
โรคนี้เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยสัตว์ที่เป็นโรคนี้จะขับถ่ายเชื้อโรคออกมากับปัสสาวะ เชื้อจะอาศัยอยู่ได้ในดินที่ชื้นแฉะหรือมีน้ำขัง และเข้าสู่คนทางผิวหนังอ่อน เช่น ซอกนิ้วมือนิ้วเท้า บากแผลหรือเยื่อเมือก ดังนั้นมักจะพบโรคนี้ในคนทำงานเกี่ยวกับสัตว์ เช่น สัตวบาล เกษตรกร และผู้มีอาชีพสัมผัสน้ำหรือคนที่ย่ำน้ำในที่น้ำท่วมขังนาน ๆ
วงจรชีวิต
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เชื้อโรคออกมากับปัสสาวะ สิ่งแวดล้อม
แหล่งระบาด
โรคนี้พบมากในเขตร้อนหรือเขตมรสุม เพราะมีสภาพอาการที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตของเชื้อ และมีสัตว์ที่เป็นรังโรคอยู่ชุกชุม ในประเทศไทยโรคนี้กระจายอยู่ทั่วประเทศและมีรายงานพบผู้ป่วยมากในภาคอิสาน
อาการ
คนที่ได้รับเชื้ออาจมีหรือไม่มีอาการในผู้ที่มีอาการมักแสดงอาการหลังได้รับเชื้อ 2-3 วัน จนถึง 2-3 สัปดาห์ อาการที่สำคัญคือ มีไข้ ปวดศีรษะ ตาแดง ปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่น่อง ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ผู้ป่วยยางรายอาจมีอาการแทรกซ้อน คือ ตัวเหลือง ตาเหลือง ไตวาย หรืออาการทางสมองและระบบประสาท และอาจถึงได้(อัตราการตายอาจสูงถึงร้อยละ 10-40 )
การวินิจฉัย
โดยการซักประวัติผู้ป่วยเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงของโรค อาการป่วย การตรวจร่างกาย การตรวจเลือดและปัสสาวะของผู้ป่วย
การรักษา
โรคนี้หากรักษาตั้งแต่ระยะแรก ๆ โดยให้ยาปฏิชีวนะเฉพาะโรคจะได้ผลดีกว่าปล่อยให้มีอาการรุนแรงแล้วจึงรักษาเนื่องจากอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะมาใช้เอง เพราอาจเป็นอันตรายจากการแพ้ยา หรือใช้ยาที่ไม่ถูกต้องได้ดังนั้นควรพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกต้อง
การป้องกัน
*การป้องกันไม่ให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายโดยไม่เดินย่ำหรือแช่อยู่ในน้ำท่วมขัง
ถ้าเลี่ยงไม่ได้ให้ป้องกันการสัมผัสน้ำโดยใช้รองเท้าบู้ทยาง ถุงมือยาง เป็นต้น
*ควรฉัดวัคซีนให้สัตว์เลี้ยงเพื่อไม่ให้เป็นรังโรค
*กำจัดหนู และปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้สะอาดถูกสุขลักษณะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของหนู
ย่ำน้ำท่วมขัง ควรระวังโรคฉี่หนู ถ้าสงสัยให้แพทย์ดู มัวช้าอยู่อาจถึงตาย


โลหะหนัก บริการตรวจ
โลหะหนักคืออะไร
โลหะหนักเป็นธาตุที่พบได้ตามธรรมชาติ ทั้งบริเวณผิวของเปลือกโลก น้ำ อากาศ บางธาตุมีประโยชน์ต่อขบวนการเผาผลาญอาการภายในร่างกายมนุษย์ เช่น ทองแดง(Copper) ซิลีเนียม(Selenium) เหล็ก(Iron) และสังกะสี(Zinc) แต่ในทางกลับกัน บางธาตุทำให้เกิดภาวะเป็นพิษได้ เมื่อร่างกายมนุษย์ได้รับในปริมาณที่สูง เช่น สาตะกั่ว(Lead) โครเมียม(Chromium) นิกเกิล(Nickel) สารหนู(Arsenic) สารปรอท(Mercury) และโคบอลท์(Cobolt)
โลหะหนักเข้าสู่ร่างกายมนุษย์อย่างไร
โลหะหนัก มีอนุภาคเล็กมาก จึงสามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้ โดยการรับประทานอาหาร น้ำดื่ม หายใจ และการสัมผัส
มนุษย์ได้รับโลหะหนักจากไหน
จากการทำเหมืองแร่ การทิ้งของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม เช่น โรงงานทำแบตเตอรี่ สารเคมี สีย้อม พลาสติก และเครื่องใช้ไฟฟ้าบางชนิด โลหะหนักที่พบมักเป็นสารปรอท ตะกั่ว แคดเมียม เงิน ทองแดง สังกะสี เหล็ก แมงกานีส โคบอลท์ สารเหล่านี้สามารถสะสมและถ่ายทอดไปตามห่วงโซ่อาหารในสัตว์น้ำ ซึ่งจะเพิ่มปริมาณมากขึ้นจนถึงระดับที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้
อาการ
อาการโดยทั่วไปจากการได้รับโลหะหนักจนถึงระดับที่เป็นพิษ คือ มีอาการทางผิวหนัง ความจำเสื่อม ความดันเลือดสูง อารมณ์แปรปรวน มีความผิดปกติในการนอนหลับ เหนื่อยง่าย นอกจากนี้โลหะหนักยังเข้าไปขัดขวางการทำงานของเอนไซม์บางชนิดภายในเซลล์ ทำให้การทำงานของระบบประสาท ระบบฮอร์โมน ระบบย่อยอาหารและระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผิดปกติรวมถึงขัดขวางการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก
การวินิจฉัย
โดยการซักประวัติผู้ป่วยเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงในการได้รับโลหะหนัก อาการป่วย การตรวจร่างกาย การตรวจเลือด น้ำเหลือง ปัสสาวะของผู้ป่วย
การรักษา
ผู้ป่วยที่ตรวจพบปริมาณโลหะหนักในร่างกายระดับสูงควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง
การบริการตรวจวิเคราะห์
โดยใช้วิธี Graphite Furnace Atomic Absorption Spectrometry
การควบคุมคุณภาพ
ใช้วิธีการ ตรวจวิเคราะห์ มีการควบคุมคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ ห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ตะกั่วในเลือดได้เข้าร่วมการประเมินสถานภาพกับกลุ่มงานพิษวิทยาและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งผลการประเมินอยู่ในเกณฑ์เป็นที่ยอมรับ
ค่าบริการตรวจวิเคราะห์ปริมาณโลหะหนัก
โลหะหนัก ค่าบริการตรวจวิเคราะห์( บาท/ตัวอย่าง)
ตะกั่ว 250
โครเมียม 250
แคดเมียม 250
ทองแดง 250
แมงกานีส 250
สังกะสี 250
นิกเกิล 250
ซิลีเนียม 300
เลือด/น้ำเหลือง 250
ปัสสาวะ 250
น้ำเสีย/อากาศ 250
**หมายเหตุ ทองแดง สังกะสี และซิลีเนียม ใช้น้ำเหลืองในการวิเคราะห์
สอบถามรายระเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โครงการการตรวจหาปริมาณโลหะหนัก หน่วยเครื่องมือกลาง
โทร.02-354-9100-19 ต่อ 2051-4

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาส ราชนครินทร์ องค์ประธาน
กองทุนช่วยเหลือประชาชนปลอดโรคเขตร้อน The Tropical Disease Trust Fund TDTF

ประวัติความเป็นมา
โครงการ”กองทุนช่วยเหลือประชาชนปลอดโรคเขตร้อน” ก่อตั้งขึ้นจากความร่วมมือของคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัย Bresca ประเทศอิตาลี และสถาบันวิจัยโรคเขตร้อนและโรคติดเชื้อ Marselle ประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่ พ.ศ. 2535 โดยได้รับทุนช่วยเหลือครั้งแรกในการควบคุมโรคมาลาเรียจากประชาคมยุโรปเป็นเงินประมาณ 3 ล้านบาท ในพื้นที่ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นเขตแดนประเทศไทยติดกับประเทศพม่า หลังจากโครงการนี้เสร็จสิ้นลงไปในปี พ.ศ. 2539 คณะเวชศาสตร์เขตร้อนได้เล็งเห็นว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมีประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไป จึงสนับสนุนงบประมาณจากเงินรายได้คณะฯ และงบวิจัยอันจำกัด เพื่อให้โครงการนี้ได้ดำเนินต่อไป แต่ภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยและขาดเงินสนับสนุนจากต่างประเทศนั้น ทำให้โครงการนี้ไม่อาจดำเนินต่อไปในระยะยาวได้ ซึ่งถ้าโครงการนี้ถูกยกเลิก ประชาชนในพื้นที่รวมทั้งทหารและตำรวจตระเวนชายแดนซึ่งมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคมาลาเรียจะต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายที่โรงพยาบาลชุมชนหรือที่หน่วยควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งอยู่ห่างไกลออกไปอีกกว่า 30 กิโลเมตร ประชาชนที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นดังกล่าวจึงได้ขอร้องให้คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ดำเนินงานโครงการต่อไปโดยเมื่อความเดือดร้อนดังกล่าวทราบถึง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาส ราชนครินทร์ องค์อุปถัมภ์มูลนิธิโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน จึงได้ทรงพระกรุณาประทานเงินจาก “ทุนการกุศลสมเด็จย่า” จำนวน 300,000 บาท เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 เพื่อเป็นเงินก้นถุงซึ่งเจ้าหน้าที่ของคณะฯและผู้มีจิตศรัทธาได้ร่วมบริจาคสมทบอีกเป็นจำนวนทั้งสิ้น 686,700 บาท และทรงพระอนุญาตให้มีการจัดตั้ง “กองทุนช่วยเหลือประชาชนปลอดโรคเขตร้อน” ขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม
พ.ศ. 2541 และรับเป็นองค์ประธานกองทุนฯ โดยมีคณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน ซึ่งเป็นประธานกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อนเป็นรองประธานกองทุนฯ เพื่อบริหารจัดการเงินกองทุนฯ ในการสนับสนุนกิจการต่าง ๆ ของโครงการวิจัยด้านโรคเขตร้อน การพัฒนาโครงสร้างระดับพื้นฐานของประชากรเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต ต่อมาได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นเงิน จำนวน 50 ล้านบาท โครงการดังกล่าวจึงสามารถดำเนินการต่อไปโดยใช้เงินดอกผลจากกองทุนฯ แต่เนื่องจากสถานที่ที่ใช้เป็นที่ปฏิบัติการวิจัยและบริการทางสุขภาพแก่ประชาชนนั้น เป็นบ้านเช่าค่อนข้างคับแคบเกินกว่าที่จะรองรับโครงการต่าง ๆ ที่บ้านห้วยม่วงได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดกอปรกับในปี พ.ศ. 2542 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมนานาชาติด้านการควบคุมโรคปรสิตแห่งเอเชีย(Asian Center of International Parasite Controlหรือ ACIPAC) ขึ้นที่คณะเวชศาสตร์เขตร้อน เพื่อร่วมมือกันทำโครงการวิจัย ฝึกอบรม ให้กับนักศึกษาและบุคลากรทางการแพทย์ โดยให้ความช่วยเหลือด้านเครื่องมือและอุปกรณ์ และใช้สถานีวิจัยมาลาเรียแห่งนี้เป็นที่ฝึกอบรม คณะฯ จึงดำริที่จะก่อสร้างอาคารเพื่อเป็นสำนักงานถาวรและเป็นศูนย์ฝึกอบรมภาคสนามแห่งใหม่ ซึ่งกรมป่าไม้และกองทัพบก ได้ให้ความอนุเคราะห์จัดสรรที่ดินให้ปริมาณ 5 ไร่ บนพิกัดที่ NQ 295795 พื้นที่ดังกล่าวอยู่ห่างจากที่ทำการเดิมออกไปประมาณ 1 กิโลเมตร และเป็นพื้นที่ที่เหมาะสม และไม่ห่างไกลจากกลุ่มบ้านมากนัก ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนค่าก่อสร้างอาคารจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลอีก 10 ล้านบาท ส่วนการก่อสร้างนั้น ได้รับการอนุเคราะห์จากกองทัพภาคที่ 1 โดยกองพลพัฒนาที่ 1 และได้ส่งมอบงานก่อสร้างอาคารดังกล่าวในวงเงินทั้งสิ้น 18,075,144.60 บาท ให้กับกองทุนฯ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 โดยที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ องค์ประธานกองทุนฯ ทรงลงนามในหนังสือตรวจรับงาน และได้ทรงพระกรุณาประทานชื่ออาคารแห่งใหม่ว่า “ศูนย์โรคเมืองร้อนนานาชาติราชนคริทร์ (Rajanagaridra Tropical Disease International Centre หรือ RTIC)” ซึ่งกองทุนฯ สามารถปฏิบัติภารกิจได้สำเร็จลุล่วง ตามวัตถุประสงค์ ณ ศูนย์ RTIC แห่งนี้
วัตถุประสงค์ของกองทุน
ให้การรักษาและให้ความรู้เกี่ยวกับโรคเขตร้อนแก่ประชาชนที่ยากไร้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ
ทั้งสิ้น ศึกษาค้นคว้าหาวิธีวินิจฉัย การรักษา และป้องกันโรคเขตร้อนที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้บริการแก่
ผู้ป่วยและประชาชนทั่วไป ศึกษาและเฝ้าระวังโรคเขตร้อนต่าง ๆ ในพื้นที่ที่มีการกระจายของโรคสูง
ให้ความรู้เบื้องต้นในการป้องกันโรคเขตร้อนแก่ประชาชน โดยเฉพาะในแหล่งที่มี โรคเขตร้อนชุกชุม
สอนและฝึกอบรมภาคสนามแก่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะในชนบทหรือบริเวณที่มีโรคเขตร้อนชุกชุม เพื่อจะได้นำความรู้ไปใช้ในการรักษาพยาบาลและป้องกันโรคแก่ประชาชนในพื้นที่ต่อไป
กิจกรรมของกองทุน
ปัจจุบันการดำเนินงานของกองทุนช่วยเหลือประชาชนปลอดโรคเขตร้อน เป็นกิจกรรมที่ดำเนินการในภาคสนาม(Field-based) ณ ศูนย์โรคเมืองร้อนนานาชาติราชนครินทร์ บ้านห้วยม่วง หมู่ที่ 3 ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี 70180
ติดต่อบริจาคได้ที่
คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล โทรศัพท์ 02-354-9100-19
สำนักงานคณบดี ต่อ 1321-2 ภาควิชาสุขวิทยาเขตร้อน ต่อ 1682-3
หน่วยประชาสัมพันธ์ โทรศัพท์/โทรสาร 02-354-9143
ศูนย์ RTIC บ้านห้วยม่วง หมู่ที่ 3 ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี 70180
โทรศัพท์ 032-329-218


คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน
โรคเขตร้อน ป้องกันได้ โดยสร้างสุขภาพอนามัยที่ดีแก่ตัวคุณและครอบครัว
วิสัยทัศน์ บำบัดโรคเขตร้อนเป็นเลิศ วิชาการก้าวไกล วิจัยดีเด่น เป็นหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย
โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน สังกัดคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เริ่มให้บริการรักษาพยาบาล เมื่อปี พ.ศ. 2504 ปัจจุบันสามารถรับผู้ป่วยได้ 250 เตียง โดยให้บริการตรวจรักษาโรคเขตร้อน เช่น มาลาเรีย ไข้เลือดออก โรคไวรัสตับอักเสบ โรคพยาธิ โรคติดเชื้อจากแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา รวมทั้งโรคระบบทางเดินอาหาร โรคของผู้สูงอายุ โรคผิวหนัง โรคไต และทางเดินปัสสาวะ ให้บริการเวชศาสตร์ทางเลือก เช่น คลินิกฝังเข็ม การนวดแผนไทย
การให้บริการของโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน
คลินิกตรวจโรคทั่วไป
บริการตรวจรักษามาลาเรีย โรคพยาธิ ทางอายุรกรรมทั่วไป และโรคติดเชื้ออื่น ๆ เช่น ไข้เลือดออก โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ตรวจสุขภาพทั่วไป ตรวจสุขภาพประจำปี และตรวจสุขภาพไปประเทศฝรั่งเศส
คลินิกพยาธิตัวจี๊ด
บริการตรวจรักษาและให้คำแนะนำในการป้องกันโรคพยาธิตัวจี๊ด
คลินิกโรคไตและทางเดินปัสสาวะ
บริการตรวจรักษา ให้คำแนะนำในการดูแล ป้องกันและชะลอการเกิดโรคไต ไตวาย ไตอักเสบ และโรคของระบบทางเดินปัสสาวะ มีศูนย์ไตเทียมที่เปิดให้บริการล้างไตทุกวัน
คลินิกโรคระบบทางเดินอาหารและโรคตับ
บริการตรวจรักษาโรคระบบทางเดินอาหาร โรคกระเพาะอาหาร โรคลำไส้ใหญ่ โรคริดสีดวงทวาร โรคตับ และตับอ่อน รวมทั้งการตรวจด้วยวิธีการส่องกล้อง(Endoscopy)
คลินิกโรคปอด
บริการตรวจรักษาโรคทางเดินหายใจและตรวจสมรรถภาพปอด
คลินิกโรคภูมิแพ้
บริการตรวจรักษาโรคภูมิแพ้ และทดสอบภูมิแพ้
คลินิกโรคหู คอ จมูก
บริการตรวจรักษาโรคหู คอ จมูก และตรวจสมรรถภาพการได้ยิน (Audiogram)
คลินิกสุขภาพเด็ก
บริการตรวจสุขภาพเด็กตั้งแต่อายุแรกเกิด พร้อมทั้งให้คำแนะนำและให้วัคซีนสำหรับเด็ก
คลินิกโรคผิวหนัง
บริการตรวจรักษาโรคผิวหนังทั่วไป และการรักษาด้วยเลเซอร์
คลินิกสุขภาพผู้สูงอายุ
บริการตรวจสุขภาพและรักษาโรคสำหรับผู้สูงอายุ เช่น โรคกระดูกพรุน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง และโรคอายุรกรรมอื่น ๆ พร้อมทั้งให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพอย่างถูกวิธี
คลินิกกายภาพบำบัด
ให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย
คลินิกเวชศาสตร์แผนไทย
บริการรักษาอาการกล้ามเนื้ออักเสบ ข้อไหล่ติด คอเคล็ด ฯลฯ โดยการนวดแผนไทย และประคบสมุนไพร
Travel Clinic
บริการให้คำปรึกษาแก่นักท่องเที่ยว ฉีดวัคซีน และ ตรวจรักษาโรคเมืองร้อนต่าง ๆ
คลินิกเวชศาสตร์แผนจีน
บริการฝังเข็มเพื่อรักษาโรคต่าง ๆ เช่น โรคข้อและกล้ามเนื้ออักเสบ ปวดศีรษะ ไม่เกรน เครียด อัมพาต อัมพฤกษ์ ภูมิแพ้ฯลฯ
บริการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
ให้บริการตรวจเลือด อุจจาระ และสิ่งส่งตรวจอื่น ๆ เพื่อการวินิจฉัยโรคเขตร้อน
วินิจฉัยโรคมาลาเรีย ปราบผลภายใน 1 ชั่วโมง ตรวจเพื่อหาการติดเชื้อไวรัสเอดส์ ไวรัสตับอักเสบ โรคพยาธิ และโรคติดเชื้ออื่น ๆ ตรวจเพื่อประเมินสุขภาพร่างกายทั่วไป ตรวจอุจจาระเพื่อหาไข่พยาธิและตัวอ่อนพยาธิ *นำอุจจาระที่ถ่ายใหม่ ขนาดประมาณ หัวแม่มือ บรรจุในภาชนะที่สะอาด (ถ้าสังเกตเห็นตัวพยาธิให้นำมาด้วย)
ตารางการออกตรวจของแพทย์
* คลินิกโรคทางอายุรกรรมทั่วไป จันทร์- ศุกร์ 09.00-12.00 น.
* คลินิกโรคทางอายุรกรรมในเด็ก จันทร์- ศุกร์ 09.00-12.00 น.
* คลินิกโรคตับ จันทร์- พฤหัสบดี 09.00-12.00 น.
* คลินิกโรคผิวหนัง จันทร์, ศุกร์ 09.00-12.00 น.
* คลินิกโรคไตและทางเดินปัสสาวะ จันทร์, พุธ 09.00-12.00 น.
* ตรวจสุขภาพไปประเทศฝรั่งเศส จันทร์- ศุกร์ 09.00-16.00 น.
* คลิกนิกโรคหู คอ จมูก จันทร์ 09.00-12.00 น.
* คลินิกโรคพยาธิตัวจี๊ด จันทร์, พุธ, ศุกร์ 09.00-12.00 น.
* คลินิกโรคทางเดินอาหาร อังคาร 09.00-12.00 น.
* คลินิกโรคปอด อังคาร 09.00-12.00 น.
* คลินิกสุขภาพผู้สูงอายุ อังคาร 09.00-12.00 น.
* คลินิกโรคภูมิแพ้ อังคาร 13.00-16.00 น.
* คลินิกเวชศาสตร์แผนไทย ทุกวัน 08.00-20.00 น.
* คลินิกเวชศาสตร์แผนจีน จันทร์- ศุกร์ 09.000-12.00 น.
* คลินิกกายภาพบำบัด จันทร์- ศุกร์ 09.00-16.00 น.
***พักตรวจระหว่าง 12.00-13.00 น.***โรคมาลาเรีย โรคพยาธิ หายขาดแน่.... แค่ไป ร.พ.เวชศาสตร์เขตร้อน